บันทึกการไปสวนโมกข์ : ภาพสะท้อนนักปฏิบัติของกุหลาบ สายประดิษฐ์
สมปอง ดวงไสว ๑ ปราชญ์และนักคิดที่มีชีวิตเกิดมาร่วมสมัยในเวลาใกล้เคียงกัน ได้ร่วมสร้างผลงานอันทรงคุณค่าฝากไว้ให้แก่แผ่นดินแก่โลกเหมือนๆ กัน ต่างกันแต่เพียงเส้นทางที่สร้างสรรค์ แต่ท้ายที่สุดแล้วย่อมเป็นสายธารเพื่อความสุขสงบ สันติ มนุษยธรรมของมวลมนุษยชาติเหมือนกัน เป็นที่ทราบกันดีในหัวใจของพุทธศาสนิกชนไทย ท่านพุทธทาสเป็นปราชญ์แห่งพุทธศาสนา ส่วน กุหลาบ สายประดิษฐ์หรือศรีบูรพาคือปราชญ์แห่งการประพันธ์ ทั้งสองท่านได้มีโอกาสสื่อสารสัมพันธ์ในทางธรรมะต่อกันจนกระทั่งในที่สุดได้พบปะกัน เรื่องราวของการที่ปราชญ์ต่อปราชญ์พบกัน ล้วนสร้างสรรค์และเป็นประวัติศาสตร์จารึกอันทรงคุณค่า ควรแก่การศึกษา คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และท่านพุทธทาสภิกขุ มีโอกาสเขียนจดหมายติดต่อถึงกันเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะหรือเสวนาธรรมต่อกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จดหมายของทั้งสองท่านนั้นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และบทบาทชีวิตวัตรปฏิบัติธรรมของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หลังจากพบท่านพุทธทาสแล้ว นับว่ามีคุณค่าควรค่าแก่การศึกษายิ่ง ในดวงจิตของท่านที่ต่างศึกษางานของกันและกัน คงมีความรู้สึกความคิดที่นอกจากจะคิดถึงกัน อยากติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์ถึงกัน และคงปรารถนาที่จะได้พบกันในที่สุด จากหลักฐานทางจดหมายที่ติดต่อถึงกันพบว่า จดหมายฉบับแรกเริ่มต้นที่ท่านพุทธทาส จากสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานีติดต่อมายังคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่ง ณ เวลานั้นคือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จดหมายลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยขึ้นต้นจดหมายว่า ธรรม พร และเมตตาจงเจริญ แด่คุณ จดหมายฉบับแรกนี้ เป็นความปรารถนาของท่านพุทธทาส ต้องการสื่อสารทางธรรมะเพื่อส่งต่อให้ถึงพุทธศาสนิกชนโดยผ่านทางประชาชาติ และแลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมกับท่านบรรณาธิการ…