ข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดย โกศล อนุสิม
บทนำ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ไม่เห็นด้วย จนถึงขนาดมีการเรียกร้องให้ยกเลิก โดยให้เหตุผลว่าขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามความเป็นจริงนั้น สถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นรัฐและเป็นชาติ ไม่ว่าจะชื่อ “สยาม” ในอดีตหรือชื่อ “ไทย” ในปัจจุบัน และไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบในลักษณะเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นมีลักษณะพิเศษที่ไม่มีในสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่น ในช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายดังกล่าว บทความนี้แบ่งเป็น ๔ ตอน คือ (๑) สถาบันกษัตริย์กับประวัติศาสตร์สังคมไทย กล่าวถึงความเป็นมาของสถาบันกษัตริย์กับความเป็นรัฐชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในย่อหน้าข้างต้นว่ามีความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออกซึ่งนำไปสู่ (๒) ลักษณะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ไทย มีความแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆ อันทำให้สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัด ด้วยกฎหมายที่มีบทลงโทษเด็ดขาด จนถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ดังที่ฝ่ายต้องการให้ยกเลิกได้กล่าวอ้างกันอยู่ขณะนี้ (๓) ปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วิเคราะห์ถึงการใช้เป็นเครื่องทางการเมืองของผู้ครองอำนาจรัฐก็ดี โดยผู้ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองก็ดี โดยผู้ที่แอบอ้างความจงรักภักดีก็ดี หรือผู้ที่มีความจงรักภักดีแบบสุดโต่งก็ดี ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลในทางลบแก่สถาบันกษัตริย์ และเป็นจุดอ่อนของกฎหมายที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยยกขึ้นมาโจมตี (๔) ข้อเสนอเพื่อการใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม…