ไพลิน รุ้งรัตน์
คุณไสว มาลายเวช เป็นเพื่อนร่วม “คุก” ของศรีบูรพา เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๙๕ ครั้งนั้นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับมอบหมายจากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชานภาคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง ประกอบกับการที่ได้ร่วมคัดค้านสงครามเกาหลี จึงถูกจับกุมพร้อมมิตรสหายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ ๑๓ ปี ๔ เดือน และถูกคุมขังไว้ในเรือนจำบางขวางฐานนักโทษการเมือง (จากเล่มข้อคิดจากใจ หน้า 198)
ตอนนั้นคุณไสวอายุ ๓๙ ปี และคุณกุหลาบอายุประมาณ ๔๗ ปี คุณไสวถือเป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นน้องที่มีความศรัทธาในตัวคุณกุหลาบเป็นอย่างยิ่ง คุณไสวเล่าว่าเมื่ออยู่ในคุกนั้น คุณกุหลาบ ยังคงเขียนหนังสืออยู่ และโต๊ะของคุณกุหลาบก็คือลังไม้ฉำฉา ส่วนคุณไสวนั้นทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเลขานุการส่วนตัวของคุณกุหลาบ คือมีหน้าที่ดูแลโดยทั่วไป รวมทั้งยังเป็นคนหุงข้าว ทั้งยังอาลักษณ์ให้คุณกุหลาบไปในตัวด้วย กล่าวคือคุณไสวจะเป็นผู้ลอกต้นฉบับจากลายมือของคุณกุหลาบอีกครั้งหนึ่งให้อ่านง่าย ชัดเจน คุณไสวยืนยันว่า เป็นคนเดียวในคุกที่อ่านลายมือ “ศรีบูรพา” ได้
ผู้ดำเนินรายการ (ไพลิน รุ้งรัตน์ : ผู้พิมพ์) สงสัยว่า คุณไสวได้ช่วยให้ “ศรีบูรพา” ส่งต้นฉบับออกนอกคุกได้อย่างไร คุณไสวเล่าว่า “พวกผู้คุมน่ะ มีอยู่คนสองคนที่เอาเรื่องเอาราว คอยค้น คอยตรวจ วันไหนผมจะเอาต้นฉบับของ “ศรีบูรพา” ออกไปข้างนอก ก็จะเอาต้นฉบับให้คุณฉัตร บุณยะศิริชัย (จารึก ชมพูพล หรืออ้อย อัจฉริยะกร) บ้าง คุณเปลื้อง วรรรศรีบ้าง หรือไม่ก็คุณนเรศ นโรปกรณ์ จากนั้นคุณไสวก็ทำท่าว่าจะไปหาผู้คุมคนนั้น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ในทำนองว่า ความจริงคนคนนั้นจะต้องตรวจคนที่ถือต้นฉบับ แต่คุณไสวไปชิงให้ผู้คุมคนนั้นตรวจเสียก่อน ปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด ต้นฉบับ “ศรีบูรพา” จึงออกไปถึงมือบรรณาธิการภายนอกได้ โดยคุณไสวและคนถือต้นฉบับไม่เคยถูกจับได้เลยแม้สักครั้งเดียว
คุณไสวยังเล่าอีกว่าต้นฉบับของ “ศรีบูรพา” ที่ยังไม่เล็ดรอดออกไปสู่โลกภายนอกนั้น วันใดหากต้องไปศาล ซึ่งแปลว่านักโทษผู้ถูกจับกุมคุมขังทั้งหลายจะต้องออกไปแต่ตัว ทิ้งสมบัติอันมีค่าไว้ ซึ่งอาจถูกค้นสมบัติเหล่านั้นได้กรณีนี้ต้นฉบับอันเป็นที่รักยิ่งของ “ศรีบูรพา” จะต้องได้รับการคุมครอง คุณไสวเล่าว่า พอถึงวันนั้นจะต้องเอาต้นฉบับใส่กล่องเอาไปฝังดิน เมื่อถามว่าดินที่ไหน ก็ได้รับคำตอบง่ายๆ ว่า “ดินที่ปลูกผักที่อยู่ในคุกนั่นแหละ”
การได้รับใช้คุณกุหลาบเป็นความสุขอย่างยิ่งของคุณไสว ในขณะเดียวกันคุณไสวก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า คุณไสวบอกว่าคุณกุหลาบจะให้โอกาสคุณไสวในวันพฤหัสบดีในการแสวงหาความรู้โดยการ “ติว” ความรู้พิเศษให้คุณไสว เป็นการติวกันเพียงสองคน ทำให้คุณไสวได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ มากมาย
ผู้ดำเนินรายการถามว่า “ติวเรื่องอะไรบ้าง จดไว้ไหมคะ”
คุณไสวยิ้มละไมตอบว่า “จดซี จดไว้เรียบร้อย แต่สันติบาลค้นไปหมดแล้ว” (ฮา)
หลักการและจุดยืน-บางเรื่องที่จำได้
คุณไสวได้เล่าเสริมถึงหลักการในการทำงานว่า
“เรื่องเกี่ยวกับคุณลักษณะของคุณกุหลาบมีอยู่สองเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนคนอ่าน เรื่องที่ท่านเขียนเกี่ยวกับธรรมะลงในกระดึงทอง สมัยคุณสาทิส อินทรกำแหงเป็นบรรณาธิการโดยใช้นามปากกาว่า “อารามิก” ท่านเอามาให้ผมอ่านด้วยเอามาให้ผมลอก ผมลอกเสร็จเอาไปคืนท่าน ท่านถามว่าเป็นไง ผมบอกไม่ค่อยชอบ ท่านก็บอกผมว่า คุณไสวเราพุดเรื่องธรรมะนะ ไม่ได้พูดเรื่องการเมือง ก็บอกแล้วว่าอารามิกเป็นคนในวัด เขาต้องเป็นบัณฑิตเพราะฉะนั้นเราจะโต้กับใคร เราต้องคำนึงถึงศาสนาฟากเขากับความรู้สึกของเราว่าคู่ควรกันไหมที่จะโต้ คนอ่านจะได้ประโยชน์อะไรจากการโต้ ถ้าไม่คู่ควร ไม่ควรโต้…
“ท่านว่าเราต้องแยกแยะให้ถูก หนึ่ง ที่เราโต้คือธรรมะ ตัวผู้โต้ก็บอกว่าเป็นชาววัด สอง เมื่อเป็นเช่นนี้เราต้องระวัง เมื่อเป็นชาววัดและธรรมะ เราต้องลดระดับลง เราโต้กับบัณทิตและพูดเรื่องธรรมะ เราต้องคำนึงถึงว่าเราโต้เพื่อให้มันสาเก่ใจหรืออะไรเทือกนั้น ต้องคำนึงว่าคนอ่านจะได้อะไรด้วย ถ้าผู้โต้ความรู้ไม่เท่ากับเราหรือน้อยกว่า พูดกันไม่รู้เรื่องก็ไม่ควรโต้”
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณไสวประทับใจและจำได้คือเรื่องจุดยืนเรื่องผลประโยชน์ของตนเองและผลประโยชน์ของประชาชน คุณไสวเล่าว่า
“เกี่ยวกับเรื่องค่าเรื่อง ปีนั้นยังอยู่ด้วยกันในคุก และคุณชนิด สายประดิษฐ์ (ภริยาคุณกุหลาบ) กำลังวิ่งเต้นหาเงินหาทองสร้างบ้าน มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเสนอจะเอาเรื่องเก่าๆ ไปพิมพสองเล่ม หนึ่งเรื่องลูกผู้ชาย สองเรื่องปราบพยศ สำนักพิมพ์ก็เข้าไปในห้องเยี่ยมญาติเสนอต่อคุณกุหลาบ ผมก็ไม่ทราบว่าเขาพูดอะไรกัน พอท่านกลับมาก็ถามว่าอย่างไรครับ ท่านก็บอกว่าให้ไปเรื่องหนึ่งเรื่องลูกผู้ชาย ถึงไม่ให้ประโยชน์กับผู้อ่านเท่าไรแต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยเป็นเรื่องของเด็กๆ คิดเขาเจ็ดพัน ส่วนเรื่องปราบพยศเขาเสนอมาห้าพัน เราจะเรียกหมื่นหนึ่งก็ได้แต่ สำนักพิมพ์เขาคงไม่ขัดข้อง แต่เขาก็จะไปเพิ่มค่าเรื่องเอากับคนอ่าน ท่านว่าเรื่องปราบพยศ เขียนสมัยไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวอะไร แถมไม่ได้ประโยชน์ ให้เขาไปก็เท่ากับเอาชื่อ “ศรีบูรพา” ไปหากินกับคนอ่าน คนอื่นก็จะถือเป็นตัวอย่าง นักเขียนจะเพิ่มราคาเท่าไหร่ก็ได้ สำนักพิมพ์ก็จะไปเอาเพิ่มกับคนอ่าน ดังนั้นท่านจึงไม่ให้ เรียกว่าท่านคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้ประโยชน์มากกว่าที่ท่านเองจะได้ ทั้งที่ตอนนั้นท่านเองก็เดือดร้อน และเงินจำนวนนั้นสมัยก่อนไม่ใช่น้อยๆ”
คุณไสว มาลายเวชจบการอภิปรายด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ความระลึกรักถึงคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ปรากฏชัดอยู่ในสีหน้า.
สรุปจากการอภิปรายงาน “๙๙ ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)”
กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ในอุดมคติ
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ ห้อง Meeting room 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ไพลิน รุ้งรัตน์ : นามปากกาของนักเขียน กวี นักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีบทบาทในวงการวรรณกรรมมาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๕๑๐ ผลงานวิเคราะห์วรรณกรรมชิ้นสำคัญคือ “วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน” ในช่วงปลายทศวรรษที่ ๒๕๒๐ มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนกวี-นักเขียน รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานะบรรณาธิการผู้คัดสรรบทกวีคอลัมน์ “ลมหายใจกวี” ประจำสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปัจจุบันยังทำหน้าที่นี้อยู่ในนิตยสารสกุลไทย และมีผลงานนวนิยายและวรรณกรรม วิจารณ์ในนิตยสารขวัญเรือน และสกุลไทย อย่างต่อเนื่อง