สมบูรณ์ วรพงษ์

การเขียนถึงนาม “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ในวาระที่ท่านผู้นี้ครบ ๑๐๐ ปีชาตกาล และทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกมีการเฉลิมฉลองร่วมกับท่านอื่นๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ข้าพเจ้าเองรู้สึกยุ่งยากพอสมควรและเต็มไปด้วยความพรั่นพรึงใจไม่น้อยที่เขียนถึงบุคคลสำคัญ ไม่เฉพาะวงการ นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไทยเท่านั้น หากเป็นบุคคลสำคัญของโลกท่านหนึ่ง

แต่เมื่อได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ให้กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” ก็พยายามค้นคว้าเอกสารอ้างอิง สัมภาษณ์บุคคลร่วมสมัยผู้ใกล้ชิด ประวัติการเมืองไทยจากการเล่าขานของบุคคลร่วมชะตากรรมเดียวกัน

เหตุที่จำเป็นต้องหาเอกสารและบุคคลที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านผู้นี้ก็เพราะ

๑. ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยกับท่าน และไม่ได้สัมผัสกับท่านนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ท่านี้โดยตรง
๒. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็เพียงการอ่านจากงานเขียนของท่าน โดยเฉพาะที่ได้รับรู้มากทีเดียวก็คือข้อเขียนเชิงวิเคราะห์ของ “รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน”  ท่านผู้นี้แม้จบทางธรณีวิทยาหากมาสนใจค้นคว้างานวรรณกรรม

เอกสารที่ช่วยได้มากคือหนังสือรวมข้อคิดจากใจ กุหลาบ สายประดิษฐ์  ซึ่งภรรยาคู่ชีวิตของท่านมอบให้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗  เป็นเอกสารที่มีทั้งความสำคัญต่อชีวิตนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ท่านี้อย่างครบถ้วน ซึ่งหากจำแนกสารัตถะสำคัญอาจแบ่งออกเป็น

– ความคิดทางปรัชญาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์
– ความคิดของการเป็นนักประชาธิปไตย
– ความคิดต่อความเป็นธรรมของสังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และสิทธิสตรี
– ความคิดต่อบทบาทเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ภาระหน้าที่ของนักเขียน นักวรรณกรรม ผู้ใช้แรงงาน และพลังประชาชน ฯลฯ

ความคิดเห็นเหล่านี้ นอกเหนือจากงานเขียนบทความ บทบรรณาธิการ สารคดี เรื่องสั้น นวนิยายแล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ แทบไม่ยอมใช้ชีวิตว่างเปล่าเลย แม้ในยามถูกคุมขังจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ถูกจับข้อหากบฏปี พ.ศ. ๒๔๘๕กบฏสันติภาพปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐) และอยู่ในฐานะลี้ภัยการเมืองในต่างแดน

แนวคิดของท่านมิได้เปลี่ยนแปลงจากสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบันที่สามารถนำมาแก้ไขในปัญหาต่างๆ แม้งานเขียนผ่านพ้นมากว่าครึ่งศตวรรษ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดมองการณ์ไกลของท่านผู้นี้ สอดแทรกปัญหาต่างๆ เพื่อกระตุ้นสังคมให้รับรู้ ดังเช่นงานเขียนหลายชิ้นที่บันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่ทว่ารัฐบาลที่ผ่านมากลับใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมกับท่าน

นี้แสดงให้เห็นถึงการแสดงออกซึ่งความสุจริตใจในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองโดยสันติธรรมมาโดยตลอด แม้ในเรื่องสั้นชื่อ “แกะที่พลัดฝูง” ท่านสอดแทรกแนวคิดโดยให้ตัวละครพูดแทนว่า

“คุณไม่ได้ยินหรือว่าทุกวันนี้เขาพูดกันเรื่องอะไร เขาพูดเรื่องคอรัปชั่น และไม่ได้พูดกันว่าคอรัปชั่นไม่ดี แต่พูดกันว่าทำไมจะมีช่องทางคอรัปชั่นกะเขาได้ ฯลฯ”

ประโยคนี้ประโยคเดียวได้ถึงปัญหาที่ตกผลึกมาช้านาน (เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒) และยังไม่ได้รับการแก้ไข แสดงว่าโลกทรรศน์ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ มองเห็นภัยที่กัดกร่อนบ้านเมืองมาก่อนใครๆ

ระยะเนิ่นนานกว่าครึ่งศตวรรษที่นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ท่านนี้ ได้ประกาศให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาที่บั่นทอนความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย ได้แสดงออกซึ่งข้อเขียนทั้งสิ้น

จากระยะเวลาดังกล่าวเช่นเดียวกัน งานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ออกมาในนามปากกาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบทความการเมืองในนาม “อิสรชน” บทความศาสนาในนาม “อุบาสก” หรือนามจริงของท่าน  หากหยิบยกมาเรียงร้อยแต่ละประโยค จะเชื่อมโยงไปสู่ความเชื่อดังที่ท่านบันทึกขณะอยู่ในคุกบางขวาง (ปี พ.ศ. ๒๔๙๖) ที่ว่า

“เวลาที่คนเราน่าเกลียดที่สุด คือเวลาคิดถึงประโยชน์ของตนเองมากที่สุด  และเวลาที่คนเราน่ารักที่สุด ก็คือเวลาที่คิดถึงคนอื่นมากที่สุด”

ถ้าลำดับแนวคิดของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตามที่ ยศ วัชรเสถียร เขียนเล่าไว้ใน “ชีวิตและงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์” ในวัยหนุ่มตามแบบนักเรียน นักหนังสือพิมพ์ทั่วไปแล้ว ความแตกต่างในแนวคิดนั้นได้พัฒนาเรื่อยมา และท่านผู้นี้ไม่มีความด่างพร้อยในเรื่องใดๆ แม้นการพูดคุยฐานเพื่อน ท่านอดไม่ได้ที่สอดแทรกแนวคิดของการทำหน้าที่ในฐานะนักหนังสือพิมพ์อาชีพอย่างแท้จริงพร้อมๆ กับงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่รับผิดชอบต่ออาชีวปฏิญาณ  ดังบันทึกถึงหน้าของหนังสือพิมพ์ว่า

“การรักษาอิสรภาพของหนังสือพิมพ์ให้ยืนยงมั่นคงอยู่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับการตีราคาสิ่งนี้ไว้อย่างไร  ถ้าถือว่าอิสรภาพของหนังสือพิมพ์มีราคาค่างวดจริงอยู่ แต่ไม่เกินไปกว่าส่วนได้เสียของหนังสือพิมพ์หรือผู้ทำหนังสือพิมพ์ เราก็คงขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้กับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราเห็นว่ามีราคาค่างวดเท่าเทียมกัน ( จากบทความหนังสือพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒)

แนวคิดนี้ คงจะได้รับจากแนวคิดของ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้ก่อตั้ง น.ส.พ. ประชาชาติ และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการขณะนั้น) มีคำขวัญว่าบำเพ็ญกรณี ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข ซึ่งถือเป็นเข็มของหนังสือพิมพ์ และแนวคิดนี้ได้ก่ออิทธิพลต่อนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังในระยะต่อมา

มาลัย ชูพินัจ นักหนังสือพิมพ์ผู้ร่วมสมัยกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกท่านหนึ่ง ที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ดึงมาร่วมงานด้วยที่ บางกอกการเมือง  ชนิตร์นัยน์ ณ บางช้าง นิสิตปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสัมภาษณ์ ชนิด สายประดิษฐ์ ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท คุณชนิดเล่าว่า ” คุณกุหลาบ เล่าให้ฟังว่าระหว่างคุณมาลัยทำงานที่ ไทยใต้ž ได้ชวนกลับมาทำงานร่วมกันโดยคุณกุหลาบเป็นบรรณาธิการ บางกอกการเมือง ž และ มาลัย ชูพินิจ เขียนไว้ตอนหนึ่ง

“การตัดสินใจในครั้งนั้นจะผิดหรือถูกก็ตาม แต่ฉันได้ตัดสินใจแล้ว และได้นำฉันมาอยู่ในที่ที่ฉันอยู่กับวิชาชีพที่ฉันพอใจและบรรดาเพื่อนฝูงที่รักใคร่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่สมัยออกจากโรงเรียน ฉันคิดว่าสองประการนี้มีอิทธิพลอยู่มากในการบำเพ็ญชีวิตของฉัน”

การรวมกลุ่มกันของนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ในอดีตนั้น แสดงให้เห็นจริยวัตรของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทั้งในฐานะให้ความคิด และความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ  ท่านเคยเขียนถึง “ยาขอบ” ไว้ในหนังสือ “ยาขอบอนุสรณ์” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ตอนหนึ่งว่า “ยาขอบไม่เคยมีความรู้สึกที่เป็นปมด้อยเลยในกรณีที่เขาเรียนหนังสือชั้นมัธยม ๔  เขากลับมีความภาคภูมิใจเสียอีก ที่ด้วยการเรียนเพียงเท่านั้น ได้มีนาม “ยาขอบ” อันระบือลือเรื่องในโลกวรรณกรรมไทย

“ยิ่งกว่านั้น เขา (ยาขอบ) เคยหัวเราะร่าชอบอกชอบใจ เมื่อข้าพเจ้าบอกเขาว่า เขาเป็นนักประพันธ์ที่ครู (ถนิม เลาหะวิไลย ครู-นักเขียน-นักแปล) ได้เก็บมาจากข้างถนน…”

โดยเฉพาะ กุหลาบ สายประดิษฐ์ “ยาขอบ” เข้าสู่โลกวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และตั้งนามปากกา “ยาขอบ” มาจากชื่อ W.W.JACOB แต่ออกเสียงให้ดูเป็นคำไทย

การสร้างนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นอกเหนือจากการพัฒนาแนวคิดตนเองแล้ว ท่านผู้นี้พิถีพิถันมากในการเลือกผู้ร่วมงาน ถึงกับกล่าวว่า “งานหนังสือพิมพ์พอหาทำได้ แต่นักหนังสือพิมพ์จริงๆ นั้นหาได้ไม่ง่ายนัก”

บทความเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ที่ท่านผู้นี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่ปรารถนาให้หนังสือพิมพ์บำเพ็ญตนเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเลย  เพราะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ มิใช่รัฐบาลถาวร บุคคลในคณะรัฐบาลย่อมมีการเปลี่ยนตัวกันเสมอ เมื่ออกมาอยู่ในวงนอกรัฐบาลแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะมาแสดงความเห็นติชมรัฐบาลใหม่ในฐานะที่เป็นราษฎรคนหนึ่งเหมือนกัน”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ใช่นักการเมือง หากมองการเมืองผ่านสายตาของนักหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระทางความคิด หากได้อ่านงานเขียนของ “อิสสรชน” จะเห็นได้ว่าภาษาที่ใช้แหลมคม ไม่มีการเสียดสี ก้าวร้าว หรือเย้ยหยัน ต่างกับนักเขียนยุคต่อมา ดังนั้นงานเขียนของท่านจึง

ปรากฏว่าอ่านได้จนถึงปัจจุบันและทันสมัยเสมอ ไม่ว่าจะใช้นามปากกาใดๆ ก็อยู่ในกรอบของการเขียนประเภทนั้นๆ

สิ่งที่น่าสนใจต่องานเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในด้านของงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย ท่านเทิดทูน “คุณธรรม” สูงสุด แม้จะเป็นนวนิยายโรแมนติกก็ตาม  ขีดขั้นระหว่างคุณธรรม ศีลธรรม ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนโดยคำนึงถึงผู้อ่าน มุมมองของนักเขียนในระยะหลังได้มองในแง่ของอัตถนิยมส่วนใหญ่ แต่ชั้นเชิงในการเขียนไม่เบื่อที่จะอ่านในแง่ของความบันเทิง ซึ่งเป็นศิลปะในงานประพันธ์ของท่านอีกมุมหนึ่งของงานเขียนวรรณกรรม

“อ. ไชยวรศิลป์” นักเขียนสตรีรุ่นน้องและให้ความเคารพต่อท่านผู้นี้ ได้เขียนไว้ในคำนำ สงครามชีวิต ฉบับพิมพ์ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า “นวนิยายที่เขียนโดย ‘ศรีบูรพา’ (นามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์) รู้สึกว่าจะเป็นตัวแทนของยุคสมัยนั้นๆ เพราะผู้เขียนได้สะท้อนภาพสังคมแต่ละยุคออกมาในรูปของนวนิยาย… ฯลฯ “ซึ่ง อ. ไชยวรศิลป์” เอ่ยถึงตั้งแต่ ลูกผู้ชาย (พ.ศ. ๒๔๗๑) มาถึง “แลไปข้างหน้า” (พ.ศ. ๒๕๐๐) ซึ่งห่างกันถึง ๒๙ ปี แต่ทว่าความคิดยังแนบแน่นต่อความเป็นธรรมของสังคม

มีบันทึกเล่มหนึ่งซึ่ง กุหลาบ สายประดิษฐ์ บันทึกวันต่อวันระหว่างถูกจับข้อหากบฏครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และถูกขังที่สถานีตำรวจพระราชวัง ข้อหากบฏทั้งในและนอกราชอาณาจักร สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัสเป็นอธิบดีกรมตำรวจ  ตอนนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการสุภาพบุรุษ ต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวต่อสู้กับ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ สมัยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  แม้จะเป็นเรื่องอำนาจรัฐคุกคามเสรี าพหนังสือพิมพ์ แต่ให้ข้อคิดหลากหลายต่อสิ่งแวดล้อมที่ประสบ ความรักต่อครอบครัว ต่อเพื่อนมนุษย์ ฯลฯ แม้กับผู้ถูกจับกุมในคดีต่างๆ ที่ได้พบเห็นก็ไม่เว้นการผดุงความยุติธรรมในสังคมเอาไว้ แสดงให้เห็นมโนสำนึกอันล้ำลึกออกมา ไม่เฉพาะในยามประสบเคราะห์กรรมอย่างเดียว หากเกี่ยวโยงไปถึงสังคมส่วนรวม โดยไม่มีคำอุทธรณ์ใดๆ ต่อความอยุติธรรมที่ได้รับจากอำนาจรัฐในขณะนั้น

นี่คือการแสดงออกซึ่งท่านรักษาความเป็นธรรมสังคมเอาไว้มากกว่าคำนึงถึงตนเอง  การเสนอแนวคิดออกมาให้ประจักษ์ต่อสายตาของสังคมระหว่างเสรีภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับผิดชอบร่วมกัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ ดูจะเป็นคนแรกที่เอ่ยถึง “การเมืองภาคประชาชน” โดยเฉพาะ  ระหว่างดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ท่านได้ร่วมกับนักหนังสือพิมพ์หลายท่านต่อต้าน พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นกฎหมายบั่นทอนเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ (กฎหมายฉบับนี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน) ทั้งการเคลื่อนไหวขององค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพ และข้อเขียนของท่านเอง ทำให้ถูกจับเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ข้อหากบฏดังกล่าวข้างต้น

“เพราะเรามีผู้ปกครองบ้านเมืองที่มีใจแคบและมีความคิดอย่าง้องตื้นเช่นนั้น หนังสือพิมพ์ของเราจึงเป็นฝ่ายค้านตลอดเวลา (จากนวนิยายเรื่อง “แลไปข้างหน้า” ภาคมัชฌิมวัยตอน ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐)

การถูกจับข้อหาการเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นี้เอง คาใจของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มาช้านาน จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจไปแล้ว และใช้ชีวิตอย่างสงบ ภายหลังหลุดพ้นจากการถูกจับข้อหาอาชญากรสงคราม และก่อนจะเกิดรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ “นายฉันทนา” (นามปากกา มาลัย ชูพินิจ) เพื่อนร่วมสำนักงาน “สุภาพบุรุษ” ได้สัมภาษณ์จอมพลท่านนั้น จอมพล ป. สารภาพกับ “นายฉันทนา” ในหนังสือบันทึกจอมพล ว่า “ผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ที่คุณกุหลาบถูกจับข้อหาการเมือง เป็นเรื่องของหลวงอดุล (พล.ต.อ. อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ) ทั้งสิ้น”  ถ้าเป็นจริงตามนี้ก็น่าเป็นอุทธาหรณ์ หลายครั้งที่ตำรวจเล่นงานนักหนังสือพิมพ์เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ซึ่งต่อมาพฤติกรรมเช่นนี้ก็เกิดขึ้นอีก เมื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับอีกครั้งในข้อหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในฐานะที่เป็นรองประธานกรรมการสันติภาพ โดยมี นพ. เจริญ สืบแสง เป็นประธานร่วมลงนามหรือเรียกร้องสันติภาพ และการเรียกร้องนี้ความจริงคณะกรรมการสันติภาพก็ตั้งอยู่ที่สวีเดนและผู้ร่วมลงนามฝ่ายอเมริกาเองก็ร่วมลงนามด้วย แต่คนไทยหลายคนถูกจับ รวมทั้งอุทธรณ์ พลกุล นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบทความการเมืองใน น.ส.พ. ประชาธิปไตย ด้วย

“สุวัฒน์ วรดิลก” เปิดเผยในเอกสารของ “มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มธ.” รวมพิมพ์การสัมมนาเกี่ยวกับ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองยุคใหม่” โดย ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับพวกรวบรวม ตอนหนึ่งว่า

“จอมพล ป. เองประสงค์จะมีความสัมพันธ์กับจีน ถึงกับส่งพระองค์เจ้าวรรณฯ (พระเจ้า

วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ไปร่วมชุมนุมที่บันดง และคุณสังข์ พัธโนทัย ผู้สนิทกับจอมพล ป. ก็ส่งอาจารย์กรุณา กุศลาศัย กับ อารีย์ ภิรมย์ ไปจีนเพื่อหยั่งดูท่าที ก่อนที่คณะบาสเกตบอลจะเดินทางไป และคณะศิลปินไทยไปแสดงที่ประเทศนั้นในเวลาต่อมา”

และกล่าวว่า “แม้รัฐบาลไทยจะเดินตามหลังอเมริกาก็ตาม แต่ทางด้านประชาชนจีนกับไทยขาดกันไม่ได้ ถ้าตัดขาดจากจีนกับไทย ก็เหมือนบังคับเอาหัวเดินต่างเท้า”

การเดินทางกลับจากจีนของ “สุวัฒน์ วรดิลก” กับพวกก็เพราะจอมพล ป. ส่งโทรเลขให้เดินทางกลับได้แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงนำคณะนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไทยเดินทางไปตามคำเชิญของฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของจีน ขณะอยู่ในจีนนั่นเอง จอมพล ป. ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร โค่นอำนาจเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ เสียก่อน เป็นผลให้ท่านต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างแดนจนสิ้นชีวิต ไม่เช่นนั้นก็ถูกจับข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งใช้ในขณะนั้น

การที่ข้าพเจ้าแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองที่เกี่ยวโยงมาถึงชีวิตตอนหนึ่งในชีวิตของ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ก็เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรับรู้ว่าในฐานะท่านเป็นทั้งนักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ไปพร้อมกันนั้น หน้าที่อันพึงปฏิบัติมิได้หยุดยั้งแค่งานในหน้าที่อย่างเดียว หากเฝ้ามองทิศทางของบ้านเมืองอย่างแจ่มขัดต่ออนาคตของประเทศชาติ และผลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ตอนหนึ่งจากหนังสือการเมืองของประชาชน ท่านเขียนไว้ว่า

“อย่าชังเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เลย เพราะถึงท่านชังมันเท่าไร มันก็จะกลับมาวันยังค่ำ  ถ้าท่านไม่เปิดประตูต้อนรับมันเมื่อได้ยินเสียงเคาะ มันก็จะเข้ามาทางหน้าต่างหรือพังประตูเข้ามาจนได้ เพราะมันต้องการอยู่อย่างสมควร อย่างน้อยก็เช่นเดียวกับท่านต้องการเหมือนกัน” ( ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ )

ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยี่ยม “ห้องสมุดศรีบูรพา” และได้พบกับ “จูเลียต” นักเขียน นักแปล คู่ชีวิตของท่าน  ข้าพเจ้าเห็นว่าการทำงานของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ท่านนี้ท่านทำอย่างเป็นระบบ และได้รับทราบว่าท่านทำงานเช่นนี้สม่ำเสมอมาตลอดชีวิต มีตารางการทำงาน บันทึกรายวัน จุดหมายปลายงานเขียนหนังสือ ต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ  นั่นคือกิจวัตรประจำวันของ “กุหลาบ

สายประดิษฐ์” มานับสิบๆ ปี  อาจพูดได้ว่า “เป็นแหล่งข้อมูลทางการเรียนรู้” งานค้นคว้าของนิสิตนักศึกษา และผู้ใฝ่หาความรู้ด้านประวัติการณ์หนังสือพิมพ์และวรรณกรรมไทย

ไสว มาลยเวช เจ้าของนามปากกา “ไพศาล มาลาพันธุ์” ผู้เขียน “นักโทษการเมือง” (ถูกจับข้อหากบฏสันติภาพ) ท่านผู้นี้เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ และอยู่ที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช นำความเดือดร้อนเรื่องราคายางตกต่ำมาร้องต่อ ส.ส. ที่สภาผู้แทนราษฎร กลับถูกจับขังอยู่ที่ลาดยาว มีโอกาสรู้จัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะผู้ต้องโทษ “กบฏสันติภาพ” ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “ในสมัยที่คุณกุหลาบติดคุกด้วยข้อหาที่ถูกยัดเยียดจากอำนาจรัฐเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ นั้น เราอยู่ร่วมในห้องเดียวกัน ผมพบคุณกุหลาบทุกวัน เห็นท่านเขียนบันทึกและศึกษาตลอดเวลา พร้อมกับแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกร เพื่อให้มีความรู้เวลาออกไป”

อุทธรณ์ พลกุล (นามปากกา “งาแซง”) นักเขียนบทความการเมือง นักหนังสือพิมพ์อีกผู้หนึ่งที่ร่วมชะตากรรมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในข้อหาเดียวกัน เนื่องมาจากอุทธรณ์คัดค้านการส่งทหารไทยไปร่วมรบที่เกาหลีสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “เราจะตั้งกลุ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณกุหลาบถนัดทางภาษาอังกฤษก็ตั้งกลุ่มเรียนภาษาอังกฤษ ผมถนัดทางฝรั่งเศส และมีอีกกลุ่มเรียนภาษาจีนด้วย”  นี่แสดงถึงความใฝ่ใจต่อการให้การศึกษาและเรียนรู้ตลอดมาของนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ท่านนี้ พร้อมๆ กับแบ่งปันความคิด ความรู้ให้ผู้อื่นโดยไม่ปิดบัง

เช่นเดียวกับข้าพเจ้าได้พบกับ “สุชาติ ภูมิบริรักษ์” ผู้เป็นเสมือนเพื่อนร่วมตายของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และลี้ภัยการเมืองด้วยกัน โดยไม่ยอมกลับไทย ขณะพำนักอยู่ที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน (สุชาติฯ อดีตนักศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ ร่วมเดินทางไปเยือนจีนกับกุหลาบในปี พ.ศ. ๒๕๐๐) ท่านผู้นี้เล่าถึงจริยาวัตรของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่า “คุณกุหลาบท่านอยู่อย่างสมถะ ศึกษาหาความรู้ตลอด อ่านหนังสือ อ่านงานเขียนของนักเขียนคนสำคัญๆ ของโลก  ท่านมีความรู้ด้าน าษาอังกฤษดีเยี่ยม จึงเป็นขุมความรู้ของพวกเรา…”

แม้งานเขียนระหว่างลี้ภัยทางการเมืองในจีนจะมีไม่มากนักในระยะหลัง แต่งานของท่านถูกแปลออกเป็นภาษาจีนหลายเล่ม รวมทั้ง แลไปข้างหน้า ซึ่งในภาษาจีนให้ชื่อว่า “เซี่ยงเฉียนคั่น” ในนาม “ซีอูลาพา” (ศรีบูรพา ออกเสียงตามภาษาจีน)

บัณฑิตจากสถาบัน “หลู่ซิ่น” นักเขียนจีนผู้หนึ่ง ผู้นี้ชื่อ “หวังเหมย” ร่วมกับ “บวร รัตนสิน” เขียนไว้ในหนังสือสาระนิยายจดหมายจากปักกิ่ง

“ดิฉันฟังมาว่า ในคืนวันชาติจีนปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ศรีบูรพาž ได้รับเชิญไปร่วมงาน ณ หอเทียนอันเหมิน ครั้นถึงเวลาพักมีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งมาเรียนท่านว่า “ประธานเหมา (เจ๋อตุง) อยากพบด้วย “ศรีบูรพา” ก็เดินตามเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไป จนเจอหน้ากัน ประธานเหมาเจ๋อตุงก็ทักขึ้นว่า

“ไท่กว่อเตอหลู่ซิ่น (หลู่ซิ่นประเทศไทย)”

“นี่เอง ไม่มีใครไขความลับเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเกียรติสูงยิ่งต่อท่านนักประพันธ์ผู้นั้น ซึ่งดูเหมือนจะลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่นี่ และท่านจบชีวิตที่นี่ แผ่นดินมาตุภูมิของดิฉัน”

ตอนหนึ่งนักประพันธ์ยุคใหม่ของจีนที่ผ่านยุคสมัย ๔ ทันสมัย กำลังมีชื่อเสียงในปัจจุบันและอายุน้อยที่สุด เขียนต่อไปว่า “ควรจะถือว่าท่านประเมินค่าเกียรติยศของศรีบูรพาอย่างสูง หลู่ซิ่นใช้ ‘ปากกาเป็นอาวุธ’ กับศัตรูของประชาชนในยุคมืดโดยไม่พรั่นพรึงต่ออำนาจทมิฬ”

ในฐานะพุทธศาสนิกชน นอกจากเคยบวชเรียนและศึกษาหาความรู้อย่างถึงแก่นศาสนาจริงแท้แล้ว งานที่ปรากฏออกมาในนาม “อุบาสก” นั้น อาจจะมองข้ามไปว่า ท่านผู้นี้แม้จะมีความคิดทางสังคมนิยมอย่างที่ถือกันก็ตาม หากทว่าในงานของท่านได้ชี้ให้เห็นถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนิกชนที่ดี เช่น ตอนหนึ่งในงานเขียนบทความชุดอุดมธรรม

“คำว่า นรก สวรรค์ พรหม เทวดา…ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติเพื่อใช้เรียกหรืออธิบายสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น ทั้งสิ่งเหล่านี้ก็มิใช่เนื้อแท้ของธรรมะ จึงไม่สมควรที่จะไปยึดถือหรือเอาจริงเอาจังนัก” ข้อความนี้เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว

ช่วงหลังนี้ดูท่านจะหันมาสนใจต่อพุทธศาสนาและศึกษาถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา มีข้อเขียนหลายชิ้นออกมาติดๆ กันเช่น สนทนาเรื่องพุทธศาสนา ในระยะปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๐ ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย

“คำสอนของพุทธศาสนาเป็นคำสอนเพื่อให้มนุษย์สามารถเอาชนะความทุกข์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอย่างหยาบหรืออย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอย่างตื้นหรืออย่างลึก และถ้าตั้งใจปฏิบัติอย่างไม่ถอยหลังแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะสามารถเอาชนะสรรพความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาดทีเดียว”

(จาก “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา” มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐)

จะเห็นว่า “โลกทรรศน์กุหลาบ สายประดิษฐ์” ครอบคลุมไปทั้งหมด ไม่ว่าปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม สังคมประชาธิปไตย บทบาทและเสรีภาพงานเขียน และงานหนังสือพิมพ์ที่ท่านประกอบอาชีพนี้ตลอดอายุขัย มิได้เปลี่ยนไปแม้จะประสบเคราะห์กรรมใดๆ  ถึงแม้ตอนหลังปรากฏว่ามีผลงานออกมาน้อยกว่าที่เคยปฏิบัติ แต่ผลงานที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังชี้ถึงทิศทางการดำรงอยู่ ความเป็นไปของบ้านเมืองที่ท่านได้แสดงความคิดไว้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคของรัฐบาลเผด็จการทหาร ความคิดต่อสังคมส่วนรวม และความเป็นธรรมของสังคม เรียกร้องสันติภาพก็มิได้เปลี่ยนไปจากความเป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ของท่าน  การที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติยกย่องและมีงานเฉลิมฉลองในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่เฉพาะเป็นเกียรติประวัติของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ประเทศไทยเท่านั้น หากเป็นเกียรติประวัติของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ของเอเชียท่านหนึ่งด้วย