เดวิด สไมท์

นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายดังที่สุดเล่มหนึ่งของไทย พิมพ์ซ้ำเกิน

กว่า ๔๐ ครั้ง ทำเป็นภาพยนตร์สองครั้ง และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนแล้ว ถึงแม้ว่า ข้างหลังภาพ ไม่ได้จัดเป็นหนึ่งใน “โครงการหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ของ วิทยากร เชียงกูล และคณะ แต่กลับมีนักอ่านนักวิจารณ์

หลายคนที่ถือกันว่าข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายดีที่สุดของ “ศรีบูรพา”

สำหรับผู้ศึกษาวรรณกรรมไทย ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่น่าสนใจไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาสาระและฝีมือในการแต่งเรื่องของผู้ประพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่เนื่องมาจากมีนักวิชาการและนักวิจารณ์ชั้นนำตั้งแต่ อุดม ศรีสุวรรณ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ

ตรีศิลป์ บุญขจร จนถึง ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เคยหยิบปากกามาเขียนบทวิเคราะห์ จึงทำให้

ผู้อ่านมีโอกาสมองผลงานของ “ศรีบูรพา” ชิ้นนี้ในแง่ที่น่าสนใจต่างๆ

บทวิจารณ์ข้างหลังภาพ แรกๆ (ซึ่งมี อาจิณ จันทรัมพร เคยรวบรวมพิมพ์เป็นภาคผนวกในข้างหลังภาพ ฉบับที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้านำมาจัดพิมพ์) แม้ว่าจะชมฝีมือของ

ผู้ประพันธ์เป็นอย่างดี แต่ก็กล่าวทำนองว่ายังดู “จืด” ไปหน่อย นักวิจารณ์คนแรกที่ชวนให้

ผู้อ่านมองนวนิยายเล่มนี้ให้ลึกซึ้ง คือ อุดม ศรีสุวรรณ ซึ่งใช้นามปากกา “พ. เมืองชมพู”

เขียนบทความเรื่อง “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ลงในนิตยสารอักษรสาส์น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ในบทความนี้กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว. กีรติกับนพพรนั้น

ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นกลาง คือ ม.ร.ว. กีรติ

เป็นตัวแทนชนชั้นสูง และนพพรเป็นตัวแทนชนชั้นกลาง ต่อมา ตรีศิลป์ บุญขจร ผู้เขียน นวนิยายกับสังคมไทย (๒๔๗๕-๒๕๐๐) แทนที่จะกล่าวถึงชนชั้นในสังคมไทย ตรีศิลป์

กลับพูดถึงการขัดแย้งกันระหว่าง “โลกเก่า” กับ “โลกใหม่” แต่ก็ยังเสนอว่าทั้ง ม.ร.ว. กีรติ และนพพรถือเป็นตัวแทนสองส่วนในสังคมไทยสมัยนั้นได้ การที่งานศึกษาประวัตินวนิยาย

ไทยของตรีศิลป์มีคุณภาพค่อนข้างจะสูง จึงไม่น่าประหลาดใจที่มีอาจารย์ผู้แต่งตำราเกี่ยวกับ

วรรณกรรมไทยหลายท่านเอาไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิง ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพล

ของตรีศิลป์คือ ตำราระดับอุดมศึกษาเรื่องพัฒนาการวรรณคดีไทย ซึ่งผู้แต่งชวนให้นิสิตนักศึกษามองข้างหลังภาพ ว่าเป็นนวนิยายที่สะท้อน “ความเสื่อมสลายของสังคมชั้นสูง  สังคมเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ ยุคใหม่”

ผมต้องสารภาพว่า การมองทั้ง ม.ร.ว. กีรติและนพพรว่าเป็นตัวแทนชนชั้นสังคม

ไทยสมัยนั้นเห็นจะเป็นเรื่องยากหน่อยสำหรับผม อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนต่างชาติ

ไม่รู้เรื่องสังคมไทยสมัยนั้นก็ได้ แต่การที่ “พ. เมืองชมพู” อ้างว่า

“ถ้าเรานำชีวิตของ ม.ร.ว. กีรติ ไปเปรียบเทียบกับสภาพของชนชั้นผู้ดี

ในสมัยเมื่อ ๑๐ ปีก่อน อันเป็นระยะที่ข้างหลังภาพ ปรากฏตัวในบรรณโลกแล้ว

โศกนาฏกรรมของ ม.ร.ว. กีรติ เท่ากับเป็นภาพแห่งการแตกสลายของชนชั้นนี้

ทีเดียว…”

ในขณะที่น้องสาวของ ม.ร.ว. กีรติทั้งสองคน (ซึ่งน่าจะเป็นชนชั้นเดียวกับพี่สาว

มิใช่หรือ) ก็เห็นมีความสุขกับสามีหนุ่มที่รักกันดีอยู่ ผมจึงอดรู้สึกไม่ได้ว่าการมองสังคมไทย

แบบ “พ. เมืองชมพู” นั้นน่าจะเป็นการมองข้ามเนื้อหานวนิยายมากไปหน่อย

ข้ออ้างของ “พ. เมืองชมพู” อีกข้อหนึ่งที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้ก็คือ

“คำว่า ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่

ฉันรัก ก็พอจะถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดคำนึงของชนชั้นผู้ดี ผู้ซึ่ง

อิ่มใจและภูมิใจต่อชีวิตในอดีตซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ภายใต้ระบบทำนาบนหลังคน

อันเก่าคร่ำครึนั้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว…”

ถ้อยคำของ ม.ร.ว. กีรติคิดว่าผมพอเข้าใจได้ แต่จะเอาความผิดหวังของ ม.ร.ว.

กีรตินั้นไปเปรียบเทียบกับ “ระบบทำนาบนหลังคน” ได้อย่างไร ผมก็ยังไม่ทราบ

ผมสงสัยว่านักอ่านนวนิยายข้างหลังภาพ ทั่วๆ ไปคงถือว่าข้างหลังภาพ เป็นแค่เรื่องรักโศกเศร้า โดยไม่มองตัวละครว่าเป็นตัวแทนอะไรเลย ความหมายลึกซึ้งของนวนิยาย

เท่าที่มีและลักษณะดีเด่นอย่างหนึ่ง เขาอาจรู้สึกว่าน่าจะอยู่ที่ผู้ประพันธ์สามารถพรรณนาสภาพและความกลัวของเพศหญิงทั่วไปที่ถูกค่านิยมสังคมกีดกันไม่ว่าเป็นผู้หญิงชนชั้นสูง กลาง หรือต่ำ ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน ดังประโยคที่ ม.ร.ว. กีรติกล่าวว่า

“…ความสุขอันแท้จริงของฉันยังคงเลื่อนลอยอยู่ข้างหน้า ฉันเป็นแต่

ไล่ไขว่คว้าติดตามและหวังในสิ่งนั้น และคอยอยู่”

สงสัยว่านักอ่านผู้หญิงหลายคนคงพยักหน้ารับ ในขณะที่ข้อสังเกตของ ม.ร.ว. กีรติ

ที่บอกว่า

“…เจ้าผู้หญิงเองเมื่อมีความผาสุกพอสมควรแล้ว ก็มักไม่สนใจใน

ปัญหาที่เกี่ยวกับความรัก เพราะว่าจะเป็นความรักหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีความ

ผาสุกแล้วจะต้องการอะไรอีก…”

อาจจะเอาเป็นเครื่องปลอบใจตัวเองด้วยซ้ำ

นักอ่านทั่วๆ ไปคงเข้าใจว่า ม.ร.ว. กีรติมีความทุกข์เพราะนพพร และคงมีคนไม่น้อยที่ถือว่าเธอตายเพราะนพพรไม่รัก และเรื่องนี้ “พ. เมืองชมพู” หรือ อุดม ศรีสุวรรณ เป็นนักวิจารณ์ที่มองนพพรในแง่ร้ายที่สุด

“ส่วนนพพรผู้ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต ม.ร.ว. กีรติ และมีส่วนที่

ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมที่แฝงไว้ ข้างหลังภาพ นั้น ก็เป็นบุคคลที่เหมาะกับ

กาลสมัย จากเนื้อเรื่องทั้งหมดที่ ศรีบูรพาž ได้วาดให้เราเห็น เราก็เห็นแล้วว่า

นพพรเป็นคนที่ไม่มีศีลสัตย์ เขาเป็นผู้สร้างเจดีย์แห่งความรักอันหวานฉ่ำ

และแล้วเขาเองเป็นผู้ทำลายเจดีย์นั้นเสียอย่างเลือดเย็น ลักษณะของนพพร

เช่นนี้เราจะหาตัวแทนของเขาจริงๆ ในสังคมไม่ยากนัก แม้แต่ปัจจุบันนี้…ความ

ไม่มีศีลมีสัตย์ของนพพร ก็คือลักษณะที่ไร้ศีลไร้สัตย์ของชนชั้นนายทุนนาย

หน้าที่รุ่งเรืองหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชนชั้นนี้มุ่งแต่จะเก็งกำไร

ซึ่งก็ตรงกับความปรารถนาของนพพร ซึ่งมุ่งแต่ความก้าวหน้าของตนเป็นใหญ่…

สิ่งที่นพพรหรือชนชั้นนี้คำนึงหรือระลึกอยู่เสมอก็คือ ความงามž ที่ ม.ร.ว. กีรติ

หรือสังคมเก่าปรุงแต่งให้คงงามอยู่เสมอ แต่ก็นั่นแหละ ผิวหน้าย่อมไม่คงทน

เป็นเพียงแต่ภาพลวงตาชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งง่ายที่จะรักและง่ายที่จะ

ลืม…”

มาถึงบัดนี้ ยังมีนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่นำถ้อยคำของ “พ. เมืองชมพู” แปรเป็น

ป้ายติดไว้ที่ตัวนพพรว่าเขาเป็นคน “รักง่ายลืมง่าย” เหมือนกับว่าเขาเป็นตัวแทนผู้ชายไม่จริงใจทั่วไป การที่เรียนวิชาทางด้านธนาคารก็ใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมกันว่า นพพรเป็นคน

ที่เห็นแก่ตัวเอง เอาใจใส่แต่การก้าวหน้าของตนเอง

ส่วน ม.ร.ว. กีรติ ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นผู้แพ้ในความรัก ถึงแม้นักอ่านส่วนมากจะเห็นใจเธอเป็นอย่างยิ่ง โดยถือว่าเธอเป็นผู้หญิงตัวอย่างยอดเยี่ยมที่ทั้งอดทนและเสียสละ  แต่ก็ยังคงมีอีกพวกหนึ่งที่มองเธอคนละอย่างกัน พวกนี้-ซึ่งรวมทั้งนักอ่านชาวต่างชาติหลายคน (ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจสังคมไทยก็จริง) พอเห็น ม.ร.ว. กีรติเริ่มรำพึงรำพันว่า

“…ชีวิตของฉันเป็นชีวิตของคนที่อาภัพ เหตุผลในการแต่งงานของฉัน

เป็นเหตุผลของสตรีที่อาภัพที่สุดในเรื่องความรัก…”

แทนที่จะหยิบผ้าเช็ดน้ำตา กลับคิดในใจว่า “เดี๋ยวเถอะๆ คุณหญิงทั้งรวยทั้งสวย

ทั้งเก่งทั้งมีผัวที่รัก แค่นี้ก็ยังไม่พออีกเหรอ”

เผอิญผมเคยได้รับเชิญไปคุยกับนิสิตนักศึกษาไทยเกี่ยวกับข้างหลังภาพ หลายครั้งแล้ว อดรู้สึกไม่ได้ว่า เขามักจะมองข้ามจุดสำคัญอย่างยิ่งของนวนิยายเล่มนี้เสมอ คือ ข้างหลังภาพ เป็น “นวนิยายประเภทสารภาพ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า confessional novel นวนิยายประเภทนี้มีผู้เล่าเรื่องบุรุษที่ ๑ ซึ่งมักจะเปิดเผยหรือ “สารภาพ” เหตุการณ์

ในชีวิตหรือประสบการณ์ส่วนตัวที่มีผลกระทบกระเทือนจิตใจมาก นักอ่านจะสนุกที่ได้รู้จัก

รายละเอียดส่วนตัวของผู้เล่าเรื่องมากกว่าตัวละครในนวนิยายประเภทอื่น ส่วนผู้ประพันธ์

นวนิยายประเภทนี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้อ่านรู้สึกว่าได้สัมผัสกับผู้เล่าเรื่องอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็น

คู่ปรับทุกข์ จุดนี้ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ชี้แจงมานานแล้ว ดังที่เคยกล่าวว่า “เพราะ

ผู้แต่งใช้กลวิธีให้นพพรเป็นผู้เล่าเรื่อง เราจึงเข้าใจนพพรได้มาก แต่ฝ่ายกีรตินั้นเราเข้าใจตามที่นพพรบอก ลักษณะนิสัยของนพพรจึงแจ่มแจ้งแก่ผู้อ่านมากกว่า”

เราอาจจะยกคำถามเพิ่มอีกสักสองข้อ คือ หนึ่ง คำเล่าเรื่องหรือ “คำสารภาพ”

ของนพพร เราเชื่อเต็มที่หรือเปล่า (อย่างเช่นในบทสุดท้ายที่นพพรพูดว่า “ผมไม่เข้าใจว่า คุณหญิงหมายความว่ากระไร…ข้าพเจ้าแปลความหมายของเธอไม่ออก”) และสอง เราคิดว่าผู้ประพันธ์ตั้งใจจะให้ผู้อ่านมองนพพรอย่างไร

นพพรจึงมีสิ่งที่ต้องสารภาพ คือ ที่เขาหลงรักสตรีที่เป็นผู้ใหญ่มีสามีแล้วประการหนึ่ง และที่เขาเคยจับมือจูบปากและจินตนาการฝันไปถึงอะไรมากกว่านั้นอีกประการหนึ่ง  แต่คำสารภาพสำคัญที่สุดคือไฟรุนแรงแห่งความรักในใจเขาดับไปเสียแล้ว ที่เหลืออยู่ก็เพียง

ความรู้สึกที่ทั้งงงและทั้งอายที่เคยหลงเสน่ห์ ม.ร.ว. กีรติ พร้อมด้วยความเข้าใจว่าเขาจะต้อง

ทำอย่างไรถึงจะรักษาความรู้สึกของ ม.ร.ว. กีรติไม่ให้เธอเจ็บปวดมากเกินจำเป็น แม้หมายความว่าเขาอาจต้องปิดบังความจริงบ้าง ไม่พูดอะไรตรงๆ บ้าง หรือแกล้งโง่บ้างก็ตาม

นวนิยายข้างหลังภาพ จบด้วยถ้อยคำอมตะของ ม.ร.ว. กีรติว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก” ซึ่งเป็นคำชวนผู้อ่านให้หันกลับไป

พิจารณาชีวิตและความรักที่ไม่ใช่ของ ม.ร.ว. กีรติคนเดียวเท่านั้น แต่เป็นของผู้อ่านเองด้วย  เราจึงอาจสรุปได้ว่า จุดประสงค์ใหญ่ของ “ศรีบูรพา” ในการเขียนข้างหลังภาพ คือสอน

ให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” ส่วนผู้อ่านที่มอง ม.ร.ว. กีรติเป็นสตรีตัวอย่าง

ที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้อยคำสุดท้ายของเธออาจถือว่าเป็นปรัชญาชีวิตอย่างหนึ่งก็ได้

ส่วนอีกพวกหนึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้กลับแสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว. กีรติอยากแก้แค้นนพพรให้รู้สึก

ไม่สบายใจตั้งแต่วันนั้นมา

แต่ความจริงเรื่องข้างหลังภาพ ไม่จบลงด้วยถ้อยคำของ ม.ร.ว. กีรติ แต่กลับจบใน “บทนำ” ก่อนบทที่ ๑ ซึ่งนพพรพูดถึงการนำภาพวาดจากมิตาเกะไปแขวนไว้ในห้องทำงาน  ถ้าผู้อ่านเข้าใจว่าข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายประเภทสารภาพ แทนที่จะให้ถ้อยคำของ ม.ร.ว. กีรติมีน้ำหนักสูงสุด เขาก็คงกลับไปพิจารณาความรู้สึกของนพพรในเวลานั้น เพราะว่าเป็นนวนิยายเกี่ยวกับนพพรมากกว่า พออ่านจบแล้วเราควรถามตัวเองว่า ทำไมนพพรจึงคิดจะแขวนรูปวาดนั้นไว้ในห้องทำงานของเขา เพราะเขาเพิ่งเข้าใจว่าเขารัก ม.ร.ว. กีรติ เหลือเกินใช่หรือเปล่า คงไม่ใช่กระมัง ความรักของนพพรนั้นดับไปจริงหลายปีแล้ว ไม่อย่างนั้นก็คงเพราะเขารู้สึกว่าเป็นการแก้บาปอย่างหนึ่ง หาก ม.ร.ว. กีรติเห็นฝีมือตัวเอง

แขวนไว้ที่ฝาผนัง อาจยิ้มลงมาจากสวรรค์แล้วยกโทษให้เช่นนั้นหรือ ก็คงไม่ใช่เหมือนกัน เพราะสำหรับนพพรแล้ว แม้จะรู้สึกทั้งอายทั้งไม่สบายใจนิดๆ แต่ก็ยังเชื่อในระดับหนึ่งว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด นพพรเองแทบจะไม่ได้ให้เหตุผลอะไรนอกจากกล่าวว่า

“ข้างหลังภาพนั้นมีชีวิต และเป็นชีวิตที่ตรึงตราอยู่บนดวงใจของข้าพเจ้า”

ภาระก็เลยตกอยู่ที่ผู้อ่านที่จะต้องหาทางเข้าใจว่า ทำไมชายหนุ่มที่เพิ่งแต่งงานใหม่

จึงคิดจะนำภาพวาดธรรมดาๆ ซึ่งเป็นฝีมือของผู้หญิงที่เขาเคยรักไปแขวนไว้ในห้องทำงาน

ที่ด้านหลังเก้าอี้ (เพราะกลัวว่าหากประดับไว้ตรงหน้า ภาพนั้นจะรบกวนประสาทของเขา)

คงมีผู้อ่านหลายคนอยากเชื่อว่านพพรรัก ม.ร.ว. กีรติจริงๆ แต่ไม่ใช่แน่นอน

ความรักของนพพรนั้นตายไปแล้ว ตั้งแต่กลับมาเมืองไทยเขามีแต่ข้ออ้างว่าทำไมไปเยี่ยมเธอ

ไม่ได้ และที่เขาอยู่ข้างๆ ตอนเธอกำลังจะตาย ก็เพราะน้าของ ม.ร.ว. กีรติวิงวอนให้ไปเท่านั้น การแขวนรูปวาดมิตาเกะจึงน่าจะมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น

เพราะเป็นรูปวาดมิตาเกะนั่นเอง รูปวาดนั้นไม่ได้เป็นที่ระลึกถึงที่รักเก่าหรอก  แต่กลับเป็นที่ระลึกถึงวัยแห่งรสรัก เป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียหาย ความเลือนจางไป และความเหือดแห้งของน้ำรัก เพราะในที่สุดนพพรก็เสียสละอุดมการณ์วัยหนุ่มเกี่ยวกับความรักแล้วยอมแต่งงานกับคนที่เขาไม่รัก ซึ่งพ่อจัดหาให้ ซึ่งก็ตรงกับ ม.ร.ว. กีรติ

ดังนั้นพอแต่งงานกับสาวที่ไม่เหมาะกับเขา นพพรจึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากเจ้าคุณอธิการบดี คือวัยแห่งรสรักได้ผ่านพ้นเขาไปเสียแล้วจนกลายเป็นคนไร้อนาคต ที่เหลือ

มีแต่รูปวาดเป็นที่ระลึกถึงน้ำรักที่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเคยไหลอยู่ในใจของเขา.

หนังสืออ้างอิง

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. “ปริศนา ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพา”. ใน อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง,  กรุงเทพฯ : โครงการ

จัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๔๕ : ๙๕-๑๐๖.

ตรีศิลป์ บุญขจร. นวนิยายกับสังคมไทย (๒๔๗๕-๒๕๐๐). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, ๒๕๒๓.

“พ. เมืองชมพู” (อุดม ศรีสุวรรณ). “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ใน “อินทรายุธ”, ข้อคิด

จากวรรณคดี. กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือน้ำแข็ง ๒๕๒๒ : ๒๓๑-๗๒.

พัฒนาการวรรณคดีไทย (หน่วยที่ ๑-๗). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชาศิลปศาสตร์,

๒๕๓๓.

บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, ม.ล. วิเคราะห์รสวรรณคดีไทย. พระนคร : โครงการตำราสังคมศาสตร์และ

มนุษยศาสตร์, ๒๕๑๗.

“ศรีบูรพา”. ข้างหลังภาพ. พิมพ์ครั้งที่ ๓๐. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, ๒๕๔๐.